วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ดนตรี และศิลปะ

สุนทรียภาพทางโสตประสาทของมนุษย์ งานศิลปะแขนงหนึ่ง ศาสตร์แห่งสำเนียงเสียงของสรรพสิ่ง สิ่งจรรโลงและยกระดับจิตใจ และสัญลักษณ์แห่งความศิวิไลซ์ของอารยชนคนทั่วโลกฯลฯ
ไม่มีคำนิยามใด จะมาบรรยายความหมายของ ดนตรี ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และตัวผมเอง ก็ไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานใดๆมายืนยันความเป็นมาของ ดนตรีกับมวลมนุษยชาติ ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคสมัยใดความเป็นมาของมันช่างคลุมเครือในสายตาผม สติปัญญา ภูมิปัญญา ความก้าวหน้าในพัฒนาการของมนุษย์นั้นก็นับเป็นเรื่องน่าทึ่ง กว่ามนุษย์ถ้ำจะรู้จักใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการดำรงชีพ รู้จักการใช้อาวุธเพื่อการล่า การปกป้องตัวเองและพวกพ้อง ตลอดจนการทำสงครามเพื่อรักษาหรือขยายอาณาเขต การรู้จักการใช้ภาษาและสัญลักษณ์เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน จนมาถึงการรู้จักการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารและแรงงาน  สู่การเดินทางไปในทุกที่ เพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนผลผลิตจากท้องถิ่น เหล่านี้ มนุษย์เราได้ใช้เวลายาวนานเป็นพันๆปีในการสั่งสม บ่มเพาะ งอกงาม เติบโตของสติปัญญา ภูมิปัญญา  และส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
 แล้วดนตรีและศิลปะละ มันเกิดขึ้นตอนไหนของพัฒนาการเหล่านี้
สิ่งที่ผมจะถ่ายทอดต่อไปนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นต่อคำถามข้างต้นนี้เท่านั้น หาใช่ข้อเท็จจริงที่สามารถกล่าวอ้างในทางวิชาการได้แต่อย่างใด
ดนตรี และศิลปะ การที่เราแยกคำสองคำนี้ออกจากกัน ก็เพื่อความหมายที่ชัดเจนขึ้นเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ว ดนตรีก็เป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งและยังเป็นศาสตร์ที่มีรูปแบบและหลักการที่ชัดเจนสำหรับการศึกษาค้นคว้าได้ด้วยเช่นเดียวกัน ในความเข้าใจทั่วไป รวมทั้งผู้เขียนเอง คำว่าศิลปะ ยังถูกจำกัดความหมายไว้เพียงภาพเขียน ปฏิมากรรม และสถาปัตยกรรม ส่วนในความเป็นจริง ศิลปะกลับปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราหลายๆคนแทบทุกลมหายใจ แทบทุกฝีก้าว แทบในทุกด้านของชีวิต
เริ่มต้นที่ความคิดและการตัดสินใจที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ คนเรียนรู้สิ่งต่างจากบทเรียนจากทั้งนอกและในตำรา จากประสบการณ์ ในการใช้ชีวิต ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่หรือคนแก่ เมื่อสมองเราจดจำสิ่งต่างๆไว้ ความคิดจะเริ่มเข้าสู่ระบบ การรับรู้ แปลความหมาย และแสดงพฤติกรรม จากขั้นตอนง่าย สู่ขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้น ประสบการณ์ ทำให้เรารู้ข้อจำกัด อุปสรรค และความเป็นไปได้ในการตัดสินใจกระทำหรือไม่ทำสิ่งใดๆ และประสบการณ์ก็ทำให้เราสามารถคิดข้ามขั้นตอนบางอย่าง  จากหน้ามาหลัง ซ้ายไปขวา บนลงล่าง เหนือไปใต้ พัฒนาจนถึงขั้นที่ ขั้นตอน กระบวนการ และรูปแบบนั้นไร้ความหมาย จากรูปแบบสู่ไร้รูปแบบ จากสูงสุดสู่สามัญ ไม่ยึดติดกับรูปแบบ และไม่ยึดติดกับความไร้รูปแบบเช่นเดียวกัน เรียกผู้ที่มีความสามารถเช่นนี้ได้ว่า เป็นผู้มีศิลปะในการคิด ทักษะเช่นนี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดไว้เพียงผู้ส่งอายุผู้ผ่านโลกมานาน หากแต่ผู้อ่อนวัย อาจตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำน้อยกว่า แล้วดนตรีเกิดขึ้นตอนไหน
การสื่อสาร การสื่อสารที่ดี ย่อมต้องอาศัยทักษะด้านความคิดที่ชัดเจน เพื่อผู้รับสารรับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารได้ถูกต้องตรงตามที่เราต้องการสื่อ การสื่อสารทางเสียง การพูด เสียงเพลง จังหวะดนตรี ไม่ใช่คนทุกคนที่จะพูดให้เรารู้สึกคล้อยตามจนถึงขั้นชื่นชอบชื่นชม และศิลปินผู้สร้างานเพลงนั้นก็ไม่ต่างกัน
และผู้ที่เราชื่นชอบไม่จำเป็นที่คนอื่นต้องชื่นชอบเหมือนเรา ดังนั้นผู้สื่อสารนอกจากจะต้องมีศิลปะในการสื่อ แม้ผู้ฟังเองย่อมต้องมีทักษะด้านศิลปะในการรับสื่อด้วยเช่นเดียวกัน แล้วศิลปะในการรับสื่อได้มาอย่างไร พอจะตอบอย่างกำปั้นทุบดินได้ว่า มาจากทักษะด้านการคิดและตัดสินใจข้างต้นนั้นเอง แล้วดนตรีเกิดเมื่อไหร่ของกระบวนการเหล่านี้
การแสดงออกและไม่แสดงออก ต่อสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด พฤติกรรมทางด้านร่างกายต่อการตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ใด เมื่อเราฟังเพลงๆนึง ร่างกายเรามีปฏิกิริยาอย่างไรหากเราชื่นชอบเพลงนั้น บางคนโยกตัว บางคนผงกหัว บางคนเคาะมือกับสิ่งใกล้ตัว ดีดนิ้ว กระทืบเท้าตามจังหวะเพลง บางคนเลือกที่จะนั่งฟังเฉยๆ สนุกและร้องตามอยู่ในใจ แต่ไม่แสดงออกว่าคล้อยตามบทเพลง  เมื่อความคิดกำหนดพฤติกรรม คำตอบของคำถามก็น่าจะพออนุมานได้ไม่ยากสำหรับสถานการณ์ตัวอย่างนี้ ดนตรีเกิดขึ้นมาแล้วใช่ไหมจากกระบวนการสื่อสาร
สำหรับตอนหน้า เราจะมาว่ากันต่อในเรื่อง ศิลปะและดนตรีในอีกหลายแง่มุมอื่นของชีวิตคนเรา

ข่าวดี มีมานานแล้วครับ

กราบสวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง หลังจากห่างหายไปจากการอัพเดต​บล็อค​ไปนาน ผมก็ขออนุญาต​กลับมาทำหน้าที่อีกครั่งหนึ่ง สำหรับวั...