วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไม่มีที่ไป

สวัสดีครับคุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน กลับมาพบกันอีกเช่นเคยกับผมมิสเตอร์เฮิร์บคนเดิม วันนี้ ผมมีเรื่องราวบางอย่างมาชวนให้คุณผู้อ่านทุกท่าน มาร่วมกันขบคิดกันหน่อย เกี่ยวกับสิ่งของที่เราต้องใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไร เมื่อตอนที่เราไม่ต้องการมันอีกต่อไปแล้ว สิ่งนั้นที่ผมกำลังจะกล่าวถึงนั่นก็คือ ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่เราไม่ต้องการแล้ว เรียกรวมๆว่า ขยะ ก็แล้วกันครับ


ที่ๆผมจากมา ก่อนจะมาพำนักอาศัยอยู่ที่ภูเก็ต เป็นอำเภอเล็กๆทางผ่านระหว่างจังหวัดสองจังหวัด คือ อุบลราชธานี กับ อำนาจเจริญ และหมู่บ้านผมอยู่ห่างจากตัวอำเภอราวแปดกิโลเมตรเห็นจะได้ ช่วงที่กลับไปอยู่บ้านหลังเรียนจบ ผมสั่งซื้อจักรยานคันเล็กๆแบบพับได้มาหนึ่งคัน เอาไว้ปั่นเล่น หวังฟื้นฟูร่างกายหลังจากเลิกสูบบุหรี่ได้ประมาณเจ็ดแปดเดือน ติดบุหรี่มาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมัธยมต้น ก็ประมาณร่วมๆยี่สิบละครับ ที่สูบมา


พอได้จักรยานคันนี้มา ผมก็ไม่ให้มันต้องคอยนาน ผมเริ่มปั่นในเย็นวันนั้นทันที เป้าหมายคือ ปั่นไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ทำจริงได้แค่ประมาณ 1-2กิโลเมตรเท่านั้น สำหรับวันแรก ก็ประมาณหนึ่งช่วงเกาะกลางถนนหนึ่งเกาะครับ มันได้เท่านั้นจริงๆ และมันก็เหนื่อยมากๆ สำหรับวันต่อๆมา มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆกับสภาพร่างกาย ที่ค่อยๆฟิตขึ้นทีละน้อยทีละน้อย จากเกราะกลางถนนหนึ่งเกราะ เริ่มเพิ่มจำนวนเกราะขึ้นเรื่อยๆ ความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน ความรื่นรมย์ ความสุนทรีย์ มันมีมาเสริมเพิ่มเติมขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป และมันทำให้ผมอยากจะเพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อยๆ อยากจะท้าทายศักยภาพตัวเองว่าจะทำได้ดี มีความแข็งแกร่ง ทรหดได้มากสักเพียงใด ผมใช้เวลาไปได้ไม่ถึงเดือน แล้วระยะทางแปดกิโลจากหมู่บ้านผม ไปสู่ตัวอำเภอ มันก็กลายเป็นอะไรที่เล็กน้อยจุ๋มจิ๋ม และไม่รู้สึกท้าทายสำหรับผมอีกต่อไป


ตลอดระยะทางแปดกิโลเมตร สองข้างทาง มันคือทุ่งนาข้าว ในฤดูกาลเริ่มเพาะปลูก ต้นกล้ามันจะเขียวขจี เรื่อยไปจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ที่ต้นข้าวจะออกรวงสีทองอร่ามไปทั่วท้องทุ่ง พริ้วไหวไปตามลมหนาว ดูแล้วสบายตา และเพลิดเพลินจนลืมเหนื่อย ทั้งๆที่ตั้งแต่เล็กจนโต ผมก็นั่งผ่านถนนสายนี้เพื่อไปเรียนหนังสืออยู่หลายปีดีดัก เห็นจนชินชาชินตา แต่กลับไม่ได้รู้สึกว่ามันสวยงามพิเศษอะไรเหมือนอย่างตอนที่ได้ดูเมื่อปั่นจักรยาน อาจจะเพราะรถผมมันเล็ก ล้อแค่ยี่สิบนิ้ว ต่อให้ปั่นจนสุดกำลัง มันก็ไปได้ไม่ถึงยี่สิบกิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่ดี มันเป็นข้อเสียและข้อดีในเวลาเดียวกัน เมื่อมันช้า มันก็ทำให้ผมได้เห็นอะไรๆที่ไม่เคยเห็นเหมือนเมื่อตอนนั่งรถผ่าน และมันก็ไม่ใช่แค่เพียงความสวยงามรื่นรมย์เท่านั้นที่ผมประสบพบเจอ มันมีความมักง่ายไร้วัฒนธรรมของของผู้คนปะปนอยู่ในนั้นด้วย ตลอดระยะทางสิบหกกิโลฯ(ไปกลับ) สองข้างทาง มันเต็มไปด้วยเศษขยะ ถุงพลาสติก แก้วกาแฟ กล่องโฟม ขวดแก้ว เชือกฟาง กล่องนม ฯลฯ ผมไล่ไม่หมดครับมันช่างมีความหลากหลายเยอะแยะมากมายอะไรเช่นนี้ ที่น่าโมโหที่สุดก็ตอนที่เจอคนทิ้งขยะที่ทิ้งกันอย่างหน้าไม่อาย ทิ้งกันต่อหน้าต่อตานี่แหละครับ ที่สำคัญเป็นนักเรียนนักศึกษาคนมีความรู้ มีการศึกษาด้วย โยนแก้วพลาสติก วิ้ว ผ่านหน้าผมไป เด็กๆพวกนี้อยู่บนรถโดยสาร เด็กๆพวกนี้จะโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ถ้าพวกเขาไม่ตายซะก่อน พวกเขาจะยังคงทิ้งอะไรๆแบบนี้ต่อไปได้มากมายอีกตราบชั่วชีวิตพวกเขาเลยละครับ ผมพนันได้เลย อันนี้ที่เห็นตำตานะครับ ส่วนที่ไม่เห็นว่าทิ้งนี่ไม่รู้เป็นใครหน้าไหนบ้าง ซึ่งจริงๆผมก็ไม่อยากรู้หรอกครับว่าคนพวกนี้เป็นใคร ผมแค่อยากรู้ว่าทำไม ถึงทำกันอย่างที่ทำอยู่


จากประสบการณ์ครั้งนั้น มันทำให้ผมเริ่มสังเกตุสองข้างทางอยู่ตลอดเมื่อเดินทางไปไหนมาไหน แล้วผมก็ได้เรียนรู้ว่า ไม่ใช่แค่แปดกิโลเมตรจากหมู่บ้านผมถึงตัวอำเภอที่ผมอยู่เท่านั้น แต่มันคือถนนแทบทุกสายในประเทศนี้ ที่ผู้คนต่างยินดีจะทิ้งอะไรก็ตามที่ไม่ต้องการ ให้มันพ้นๆตัวออกไป ลงบนถนน ข้างถนน อันที่จริงแล้ว มันคือทุกๆที่ ที่คนพวกนี้ไปถึงครับ หลายๆครั้งผมเห็นเป็นคนขับรถแพงๆผูกไท หลายๆครั้งผมเห็นเป็นถึงระดับครูบาอาจารย์ ล่าสุด(ที่ภูเก็ต สองสามวันมานี่เอง)ผมเห็นเด็กนักเรียนอนุบาลซ้อนท้ายมอเตอร์ไซต์ผู้ปกครองกลับบ้านหลังเลิกเรียน ทิ้งแก้วพลาสติกใส่น้ำหวานของแกลงบนพื้นถนนขณะรถวิ่งแซงผมไป ก่อนจะทิ้งแก้วพลาสติกนั่น เด็กคนนั้นมองหน้าและสบตาผมก่อนด้วย เฟดเฟ่ ไม่เคยคิดว่าการกระทำแบบนั้นของคนอื่น มันจะมีผลกับจิตใจของผมเองมากมายขนาดนี้ เด็กมันยังไม่รู้ความครับ มันบอกได้สอนได้ อย่างที่โบราณว่าละครับ ไม้อ่อนดัดง่าย แต่พวกผู้ใหญ่นี้ละครับตัวดีเลย ไปติไปว่าเข้าหน่อยนี่ไม่ได้นะครับ ทำอะไรไม่เคยผิด พูดแล้วมันเต็บกระดองใจจริงๆ ผมเคยคิดและถามตัวเองว่า การศึกษา ความรู้ที่เขามี มันไม่ได้ช่วยเรื่องจิตสำนึกพื้นฐานง่ายๆเช่นการทิ้งขยะในที่ที่ควรทิ้ง บ้างเลยหรืออย่างไร แล้วเราจะหวังอะไรกับประเทศนี้ได้อีก กะอีแค่ทิ้งขยะลงในที่ที่ควรทิ้งก็ยังทำกันไม่ได้เลย คิดเลยเถิดไปถึงขนาดว่า เราเป็นใครถึงได้คิดว่าตัวเองดีกว่าเขาเพียงเพราะเขาไม่ทิ้งขยะลงในที่ๆควรจะทิ้ง ที่ๆมีไว้ให้ทิ้ง ผมไม่ได้คำตอบอะไร มันตื้อไปหมด


ผมเคยเห็นรูปถ่ายในเวบเพจชื่อดังเวบนึง เป็นเวบข่าวสารวาไรตี้ เค้านำเสนอเรื่องราวของขยะในประเทศฟิลิปปินส์ครับ มีหลายๆภาพถ่ายเป็นรูปของขยะสิ่งปฏิกูลจำนวนมหาศาลที่ลอยเอ่ออยู่ในแม่น้ำลำคลอง และชายฝั่งทะเล มันมากมายจนถึงขนาดที่ว่า ให้คุณผู้อ่านนึกถึงผักตบชวาที่มันมีอยู่ในแม่น้ำลำคลอง บึงน้ำต่างในประเทศของเรา ที่มันลอยเป็นแพเป็นพรมสีเขียวครอบคลุมแม่น้ำทั้งสาย จนแทบมองไม่เห็นผืนน้ำเบื้องล่าง นั่นละครับ แบบนั้นเลย แค่เปลี่ยนจากผักตบชวาสีเขียวเป็นขยะหลากสีหลายชนิดแทน บางรูปมีเด็กๆแก้ผ้าเล่นน้ำแล้วยิ้มให้กล้องอีกด้วย ดูสีหน้าแล้วเขาสนุกสนานและไม่เป็นกังวลทุกข์ร้อนไปกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่เลย ให้ตายเถอะ ยอมใจมันจริงๆ ผมได้แต่หวังว่า ไทยแลนด์ของเราจะไม่เดินทางไปถึงจุดนั้น แต่เห็นพฤติกรรมของคนในชาติเราแล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ มันอาจจะไปถึงจุดนั้นสักวันก็ได้ หากว่าคนในชาติยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มักง่ายไร้จิตสำนึกเช่นนี้
ผมใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่หลายปี ว่าจะมีวิธีใดบ้าง ที่จะแก้ไขพฤติกรรมของคนเหล่านี้ได้ หรือไม่ก็ทำอย่างไรให้ตัวผมเองอยู่กับสภาสะแวดล้อมแบบนี้อยู่กับผู้คนแบบนี้ได้อย่างไรให้มีความสุข หรือทุกข์น้อยที่สุด(เหมือนไอ้เด็กในรูปนั่น) เพราะอย่างแรกมันยากเกินไปสำหรับสามัญชนอย่างเรา สุดท้ายคงต้องจบลงตรงคำว่า ปลง เหมือนอย่างเคย ผมเกลียดคำนี้นะ มันเป็นการแสดงการยอมจำนนต่อความอยุติธรรมอย่างราบคาบ มันขมขื่นและน่าสมเพชสิ้นดี


ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก มีที่มาจากอุตสหกรรมปิโตรเคมีเป็นต้นทางครับ นักวิทยาศาสตร์ใข้ความรู้เรื่องคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของพลาสติก นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลายชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับผู้คน ที่มาของพลาสติกคร่าวๆนั้น มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะครับ ผู้ที่สนใจอยากจะทราบข้อมูลที่ลึกขึ้นกว่านี้ ผมก็นำลิงค์มาให้วาร์ปไปอ่านกันด้วยครับ อาจมีศัพท์แสงที่เฉพาะทางบางเล็กน้อย ก็อ่านข้ามๆไปได้ครับ
http://www.uniontoy.com/articles/41959443/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3??.html


จากที่ลองค้นข้อมูลในหลายๆเวบเพจแล้วพบว่า ข้อมูลในเวบที่ผมนำเสนอในลิงค์ข้างบนนั้น ค่อนข้างจะอ่านเข้าใจง่ายกว่าเวบอื่นๆที่กูเกิ้ลลิสต์มาให้ครับ ไม่เป็นวิชาการมาก แต่พอจะทำให้เข้าใจถึงแหล่งที่มาของพลาสติก และผลิตภัณฑ์จากพลาสติก พลาสติกชนิดต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้


พอค้นข้อมูลมากขึ้น ทำให้ผมได้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกมันสามารถนำมารีไซเคิ้ลได้มาสุดเพียงสามรอบเท่านั้น (เริ่มจากขวดพลาสติกสีใสๆ พอรีไซเคิลสีพลาสติกจะขุ่นขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนครั้งที่ีรีไซเคิ้ลครับ)หลังจากนั้นมันจะมีคุณสมบัติทางเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณสมบัติทางกายภาพที่ไม่เหมาะสำหรับการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใดๆได้อีก เจ้าพลาสติกชนิดนี้ละครับ ที่ผมจะยกมาขอความเห็นจากคุณผู้อ่านทั้งหลายว่า เราควรจะจัดการกับมันอย่างไรดี


มีเทคโนโลยีนึงที่น่าสนใจครับ คือเทคโนโลยีการเผา(หลอม)ขยะด้วยความร้อนสูง ประมาณ 7,000-15,000 องศาเซนติเกรด ในระบบปิด แล้วจะได้แก๊สจากการเผาไหม้ที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซนติเกรด นำแก๊สที่ได้มาทำความสะอาด(ทำความสะอาดอย่างไรนั้น ในบทความที่ผมอ่านมาไม่ได้ระบุชัดเจน) เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อยให้เหลือเฉพาะคาร์บอนมอนน็อคไซด์ คาร์บอนไดอ็อกไซด์ และไฮโดรเจนเท่านั้น เราก็จะได้เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์เทอร์ไบน์(กังหัน)ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าครับ เรียกเชื้อเพลิงชนิดนี้ว่า ซีนแก๊ส (synthesis gas)หรือแก๊สสังเคราะห์นั่นเองละคร้าบ เทคโนโลยีที่ว่านี้ เค้าเรียกเป็นภาษาปะกิตว่า พลาสม่าแก๊สซิฟิเคชั่น (plasma gasification)


*** การบอกอุณหภูมิประจำวันของสถานีวิทยุ แต่เดิมมักใช้คำว่า องศาเซนติเกรด
แต่ภายหลังมักได้ยินคำว่า องศาเซลเซียส แทน
อันที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง คือ เซนติเกรด เป็นมาตราส่วนในการวัดอุณหภูมิ
ส่วน เซลเซียส เป็นชื่อของคนที่คิดค้นระบบวัดนี้ขึ้นมา



พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำอธิบายคำว่า
Centigrade scale ไว้ว่า สเกลเซนติเกรด, มาตราส่วนเซนติเกรด : การแบ่งสเกลอุณหภูมิ
ตามแบบเซนติเกรด โดยกำหนดจุดเยือกแข็งให้เป็น 0 องศาเซนติเกรด และ
จุดเดือดเป็น 100 องศาเซนติเกรด



เซลเซียส (Cel-cius) นักฟิสิกส์ชาวสวีเดน เป็นผู้คิดสเกลแบบนี้ขึ้น
โดยในครั้งแรก กำหนดให้จุดเดือดเป็น 0 และจุดเยือกแข็งเป็น 100
ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้สเกลแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน



เซลเซียส ผู้นี้มีชื่อเต็มว่า แอนเดอร์ส เซลเซียส ( Anders Cel-cius ) (พ.ศ.2244-2287).
หมายเหตุ *** ข้อมูลจาก โอเคเนชั่นบล็อก


เทคโนโลยีที่ผมกล่าวไปมีราคาแพงมากครับ ต้นทุนในการสร้างโรงเผาขยะแบบที่ว่านี้ อยู่ที่ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทเศษๆครับ และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 70เมกกะวัตต์ ตอนนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ใช้เชื้อเพลิงเป็นขยะประเภทพลาสติก ยาง ไม้ กระดาษ ว่ากันว่าจะข่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองได้อย่างยั่งยืนที่สุด เพราะ สร้างมลภาวะน้อยกว่า ไม่ก่อสารพิษไดออกซินและฟิวเรน(เวลาเราเผาพวกพลาสติกเราจะได้กลิ่นฉุนของแก๊สสองชนิดนี้ครับ) ไม่มีน้ำมันดิน ขี้เถ้า หรือเถ้าลอย และมีผลผลิต พลอยได้ คือ ตะกรันแร่ที่มีความเสถียร จึงไม่เป็นอันตรายหรือมีความเป็นพิษ สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ในธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น ฟังดูแล้วมันเคลิบเคลิ้มดีแท้ ความหวังเรืองรองทาบทอมาตามเส้นขอบฟ้าเลยทีเดียว แต่มันคงไม่เหมาะที่จัดการกับปัญหาขยะในระดับท้องถิ่นแน่ๆ ก็ทุนสูงซะขนาดนั้น แล้วอย่างเราๆท่านๆละ ทำอะไรกันได้บ้าง นี่ละครับที่ผมอย่างให้คุณผู้อ่านมาแชร์ไอเดียกัน ที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและเงินทุนสูงแบบที่กล่าวมา


ในรายงานข่าวกึ่งสารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จากฟรีทีวีช่องนึง ผมมีโอกาสได้ดูการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองในประเทศฟิลิปปินส์ หญิงสาวคนนึงในฟิลิปปินส์ ปิ๊งไอเดียในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ด้วยวิธีการที่แสนจะเรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ เธอนำขยะพลาสติกรูปแบบต่างๆ นำมาทำความสะอาด ก่อนนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เธอนำเอาเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆเหล่านั้น มาเป็นหนึ่งในส่วนผสมของอิฐบล็อกคอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างครับ อิฐของเธอค่อยๆได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด น้ำหนักเบา เพราะต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลงนั่นเอง เธอยืนยันว่าคุณภาพอิฐลูกผสมของเธอนั้น ไม่แพ้อิฐบล็อกในท้องตลาดเลย ก็ว่ากันไปครับ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองได้ดีในระดับนึง แถมได้ตังค์ด้วย นับถือๆ ถ้าเล่นไพ่นี่ก็คงป็อกเก้าสองเด้งละครับ เอิ้กๆๆๆ


ส่วนผมเองขอเสนอไอเดียแบบนี้ครับ เอาขยะพลาสติกไปทำความสะอาดแล้วทำการย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆก่อน เดี๋ยวๆ มันคุ้นอยู่ป่าววะเฮิร์บเอ้ย ครับ ไม่แค่คุ้นหรอกครับ ผมลอกไอเดียสาวฟิลิปปินส์คนนั้นมาเลยละครับ เอิ้กๆๆๆ คือพอเราได้เศษพลาสติกพวกนี้แล้ว(ยิ่งเล็กเป็นผงได้ยิ่งดีครับ) เราก็จะเอาไปเป็นหนึ่งในส่วนผสมของแอสฟัลท์ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อยางมะตอยที่เค้าเอาไว้ผสมกรวดละเอียดลาดถนนนั้นแหละครับ ผมว่ามันต้องเวิร์คแน่นอน ฮ่าๆๆ อันนี้เสนอเฉยๆนะครับ ยังไม่การทดลองหรืองานวิจัยใดๆรองรับทั้งสิ้น มโนเอาล้วนๆครับ เอิ้กๆๆๆ


แล้วคุณผู้อ่านละครับ คิดเห็นกันอย่างไร มีไอเดียอะไรเจ๋งๆที่เคยคิดไว้แล้วยังไม่เคยบอกใครบ้างไหมครับ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเนี่ย ผมว่ามันไม่ไกลตัวเลยแม้แต่น้อย ว่างๆไม่มีอะไรทำก็ลองคิดลองแชร์กันออกมาได้ครับ ไม่จำเป็นต้องมาแชร์ในบล็อกผมก็ได้(พูดเหมือนมีคนมาคอมเม้นท์อยู่เป็นสรณะ) ช่องทางใดที่ท่านคิดว่ามันจะสะดวกที่จะนำพาความคิดไอเดียดีๆไปสู่ผู้คนในวงกว้าง ก็ลุยเลยครับ ผมอยู่ข้างคุณผู้อ่านแน่นอน มันคงคงเป็นประโยชน์ต่อสังคมเราบ้างละน่า ปัญหาอะไรที่ว่าใหญ่ๆ พอเราร่วมด้วยช่วยกันแล้ว ปัญหามันก็จะเล็กลงทันใดเลยละครับ เพราะไอ้เจ้าพลาสติกเนี่ย มันมีที่มาครับ เพียงแต่มันไม่มีที่ไปเท่านั้นเอง


พบกันใหม่ตอนหน้าครับทุกท่าน










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าวดี มีมานานแล้วครับ

กราบสวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง หลังจากห่างหายไปจากการอัพเดต​บล็อค​ไปนาน ผมก็ขออนุญาต​กลับมาทำหน้าที่อีกครั่งหนึ่ง สำหรับวั...