วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บึงน้ำจืดและเหมืองแร่ดีบุก

ใครที่อยู่ภูเก็ตหรือผ่านไปผ่านมาอาจจะมาเที่ยวมาทำงาน หรืออะไรก็ตามแต่ ย่อมต้องเคยเห็นสภาพภูมิประเทศ ที่เป็นบึงน้ำน้อยใหญ่ กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งเกาะอยู่เป็นแน่ บึงน้ำเหล่านี้มีที่มาอย่างไรนั้น คุณผู้อ่านก็คงจะเดาได้ไม่ยาก และนี่คือที่มาที่ผมจะมาบอกกล่าวเรื่องราวในตอนนี้ ให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกสักเล็กน้อยครับ


กราบสวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง อย่างที่เกริ่นไปในย่อหน้าแรก วันนี้ผมจะมาพูดถึงที่มาและรายละเอียดบางส่วนเกี่ยวกับบึงน้ำต่างๆที่มีอยู่ในเกาะภูเก็ตครับ
สมัยเรียนประถม จะมีวิชาส.ป.ช.(วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต)ถ้าไม่ป.2ก็ป.3นี่แหละเนื้อหาวิชาบางส่วน จะพูดถึงสภาพภูมิศาตร์ของประเทศ เช่น ประเทศไทยแบ่งออกเป็นสี่ภาค เหนือใต้ ออก ตก อีสาน มีสภาพภูมิเทศเป็นอย่างไร มีทรัพยากรอะไรบ้าง มีพืชเศรษฐกิจอะไรบ้าง ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่างๆประกอบอาชีพและดำรงชีพกันอย่างไร ผมจำได้ว่าภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต มีทรัพยากรธรรมชาติและพืชเศรษฐกิจดังนี้ครับ แร่ดีบุก ยางพารา มะพร้าว ความรู้เล็กๆน้อยๆนี้ติดตัวผมมาตั้งแต่นั้น


จากการหาข้อมูลเพิ่มจากเสิร์จเอ็นจิ้นอย่างกูเกิ้ลมา เปิดประตูสู่หน้าต่างเวบเพจอันหลากหลาย ที่ว่าด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของเหมืองแร่ดีบุกและภูเก็ต ผมถึงได้รู้ว่าความรู้เกี่ยวแร่ดีบุกกับเมืองภูเก็ตนั้น มีประวัติศาสตร์ย้อนไปไกลกว่าที่ผมหรือใครอีกหลายๆคนเคยรู้ และมีเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่ผมจะนำมา เรียงร้อยมาให้ทุกท่านได้ทัศนากัน ณ บัดนี้


พ.ศ.643 จากบันทึกของนักเดินเรือชาวกรีก ผู้มีนามว่า คลอติส ปโตเลมี เขาเดินเรือมา ผ่านช่องแคบมะละกา จนมาพบเกาะๆหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเกาะที่ว่านี้ได้รับการยืนยันจากนักประวัติศาสตร์แล้วว่า เป็นเกาะภูเก็ตในปัจจุบันนี้ ซึ่งในขณะนั้น เขาได้เรียกเกาะสวรรค์แห่งนี้ว่า จังซีลอน ฮึ คุ้นๆเนาะคุณผู้อ่าน ชื่อเหมือนห้างๆนึงในหาดป่าตองเลยอะ เอิ้กๆๆๆ


กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเอกสารหลักฐานที่สามมารถยืนยันได้ ว่าเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสแห่งสยามประเทศ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ผูกขาดการค้าแร่ดีบุกที่เมืองถลางแต่เพียงผู้เดียว โดยมีเรือชื่อ คลอรามันเรล แล่นมารับสินค้าที่เมืองถลางทุกๆหนึ่งปี ฮืม พอเริ่มค้าขายก็โดนผูกขาดการค้าเสียแล้ว เอ้าแล้วไงต่อ


ครับ แล้วก็มีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสคนนึง แกชื่อว่า วาเรต์ แกทำนายไว้ว่า แร่ดีบุก จะนำพาให้เกาะแห่งนี้ ตลอดจนผู้คนที่อาศัยอยู่ จะมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไปในอนาคต จากที่เห็นในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ผิดไปจากที่แกพูดไว้นักหรอกครับ แต่... ช่างมันเถ๊อะ


ต่อมาเมื่อถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช การค้ากับต่างประเทศยังซบเซาเพราะประเทศเพิ่งฟื้นตัวจากการศึกสงครามกับพม่า ช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีชาวจีนอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำมาหากินในสยามประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงเมืองถลางด้วย ชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้แหละครับ ที่เป็นแรงงานหลักในภาคธุรกิจการค้าต่างๆภายในประเทศสยามและการทำเหมืองแร่ดีบุกในภาคใต้ การสัมปทานเหมืองดีบุกนั้น มีเพียง พ่อค้าชาวต่างชาติกับคนใกล้ชิดเจ้าเมืองเท่านั้นที่จะได้สิทธิ์อันชอบธรรมนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแรงงานชาวจีนบางส่วน อาศัยความสามารถและสติปัญญาของตน จนสามารถผันตัวจากกุลีใช้แรงงาน มาเป็นเจ้าของกิจการได้สำเร็จ แต่เจ้าเมืองถลางสมัยนั้นก็กีดกันผู้ประกอบการหน้าใหม่ออกไปให้พ้นทางอยู่ดี แล้วกลายเป็นผู้ผูกขาดการทำเหมืองดีบุกเสียเอง แหม่ น่าตีจริงๆท่านเจ้าเมืองนี่ละก็ แน่นอนครับ นั้นก่อให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการชาวจีน จนทำให้เกิดการจลาจร ลักวิ่งชิงปล้นอยู่เนืองๆ กลุ่มก่อความไม่สงบนี้ เราจะรู้จักกันดีในนาม อั้งยี่ ครับ ซึ่งในพระนครก็มีพวกอั้งยี่เหมือนกันครับ แต่ต่างกรรมต่างวาระกันเท่านั้นเอง


ล่วงเลยจนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า พระองค์ทรงปรับเปลี่ยนแบบแผนการปกครองของหัวเมืองทางใต้เสียใหม่ครับ โดยให้เมืองภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ตะกั่วป่า และระนองรวมกันเป็นมณฑลภูเก็ตครับ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรต่างๆรวมถึงภาษีเหมืองดีบุก ได้เป็นไปตามระบบระเบียบใหม่ของกองคลังส่วนกลาง เมื่อปี2418 นี่เองละครับ


หลังจากนั้นไม่นาน ราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำครับ คนว่างงาน อาชญากรรมสูงขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนถึงปี2437 ได้มีการตราพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ดีบุกขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการผู้ขาดการสัมปทาน และการค้าแร่ดีบุกครับ โดยเริ่มเปิดโอกาสให้พ่อค้าชาวอังกฤษ และชาติอื่นเข้ามาประกอบกิจการเหมืองและการค้าแร่ดีบุกได้อย่างเสรี


สมัยนั้นสยามยังไม่มีโรงงานถลุงดีบุกเป็นของตัวเองครับ ต้อง ส่งไปถลุงที่โรงงานในสิงคโปร์ และเกาะปีนัง ส่วนที่น่าเจ็บใจที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดราคาแร่ดีบุกหน้าโรงงานของสิงคโปร์นี่ละครับ ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางแล้วก็มาตั้งราคาเองตามใจชอบ ที่เค้าสร้างชาติให้เป็นผู้นำในด้านเศรษฐกิจของอาเซียนได้นี่ ผมว่าเรื่องการตั้งราคาแร่ดีบุกนี่น่าจะมีส่วนมากๆเลยละ ดูอย่างราคาน้ำมันในปัจจุบันสิครับ ทำไมราคาน้ำมันบ้านเราต้องไปอิงกับตลาดสิงคโปร์ด้วย ไม่เข้าใจจริงๆให้ตายเถอะ ใครรู้อธิบายให้ผมฟังที ผมไม่เก็ทจริงๆ


ปี2449 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวออสเตรเลียนามว่าเอ็ดเวิร์ด ที ไมลส์ เริ่มนำเทคโนโลยีเรือขุดมาใช้เป็นครั้งแรกในภูเก็ตทางชายฝั่งตะวันออกบริเวณอ่าวทุ่งคาและอ่าวมะขาม ซึ่งเจ้าเรือขุดที่ว่านี้ สามารถทำงานได้ทั้งบนบกและในทะเลครับ ในสารคดี ฝรั่งเค้าเรียกเครื่องจักรใหญ่ยักษ์สำหรับทำเหมืองขุดพวกนี้ว่า เจ้าสัตว์ร้ายครับ ฟังดูมันก็น่าจะใช่อยู่หรอก มันน่าจะสร้างความชิ-หายวายป่วงของทรัพยากรได้มากมายมหาศาลสมชื่อมันนั้นละครับ


พอสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงได้ประมาณ20-30ปี เหมือนกับว่ามีการปั่นราคาแร่ดีบุกในตลาดโลก ให้สูงขึ้นจนเกินจริงเป็นประวัติการณ์ ว่ากันว่าแร่ดีบุกตอนนั้น มีค่าราวกับทองคำ ปั่นราคากันขนาดไหนก็ลองนึกดูนะครับคุณผู้อ่าน กิจการเหมืองดีบุกขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการ(ลวงๆ)ของตลาดโลก แม้แต่รัฐบาลไทย ยังจัดตั้งองค์กรเหมืองแร่ในทะเล(อ.ม.ท.)ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อไปแข่งขันกับเอกชนอีกด้วยครับ มันทะแม่งๆนะครับคุณผู้อ่าน แถมอ.ม.ท. ของเรานี่ยังรับซื้อแร่จากบริษัทเอกชนอีกด้วย บ๊ะ เอาทุกทางจริงๆ การจัดตั้งองค์กรและการเปิดเสรีกิจการเหมืองดีบุก ทำให้เกิดผลกระทบจนเกิดความเสียหายจากคอรัปชั่น การขายแร่หนีภาษีอย่างกว้างขวางและเปิดเผย โดยที่หน่วยงานรัฐเองไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ (เป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า สม่ำเสมอคงเส้นคงวาจริงๆ เอิ้กๆๆ)


7 ปีหลังจากปีพ.ศ.2530 แร่ดีบุกเริ่มล้นตลาด ราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ เหมืองแร่ต่างๆ ในเขตสัปทานของ อ.ม.ท. ทยอยปิดตัวลงในปี2536 และรัฐบาลก็มีมติให้ยุบองค์กรเหมืองในทะเลในปี2539 ส่วนบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินการกิจเหมืองแร่มากกว่า60ปี ในอ่าวทุ่งคา อ่าวมะขาม ก็ปิดตัวลงในเวลาไล่เลี่ยกัน บ๊ายบายดีบุก แล้วเจอกันใหม่นะ เอิ้กๆๆ



นี่คือภาพด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ภูเก็ตไทยหัวครับ แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองภูเก็ตที่น่าสนใจอีกแห่งนึง ภาพนี้ถ่ายในงานตรุษจีนเมื่อสองปีที่แล้วครับ งดงามโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม



เรื่องราวเกี่ยวกับเหมืองแร่ในภูเก็ตและอีกหลายๆแห่งในภาคใต้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจไม่น้อยเลยว่าไหมครับ ที่ผมรวบรวมมาเรียบเรียงใหม่อาจมีขาดตกบกพร่องไปบ้าง คุณผู้อ่านเห็นข้อผิดพลาด ความไม่ครบถ้วนของข้อมูลประการใด ก็สามารถท้วงติงแนะนำติชมชี้แนะกันมาได้ครับ
ขอบคุณเวบผู้จัดการออนไลน์ครับ ที่เป็นที่มาของข้อมูลที่ผมนำมาเสนอในตอนนี้ คุณผู้อ่านตามไปอ่านได้ครับ ตามสะดวกเลย เนื่องจากพิมจากมือถือ ผมเลยไม่รู้วิธีแปะลิงค์ครับ ขออภัยจริงๆ เอาเป็นว่าพิมคำค้นหาว่า สินแร่ในภูเก็ต ในกูเกิ้ล แล้วก็จะเจอเองครับ ออ สำหรับท่านใดสนใจอยากชมวิถีชีวิตของคนภูเก็ตยุคเหมืองเฟื่องฟู ของแนะนำพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวครับ อยู่ในตัวเมืองเก่าของภูเก็ตเลยครับ หาไม่ยาก มีค่าเข้าชมนิดหน่อย ส่วนพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ตที่อยู่บนถนน กะทู้เกาะแก้วก็น่าสนใจไม่น้อยครับ ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา กว้างขวาง ที่จอดรถสะดวกสบายกว่าในตัวเมืองเยอะครับ แต่ผมไม่เคยเข้าชมด้านใน เลยไม่รู้จะแนะนำอย่างไร แต่ก็แนะนำให้ไปดูครับ แล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้าง ก็คงดีไม่น้อยครับ









บรรยากาศในอาณาบริเวณทั้งภายนอกและภายในพิพิธภัณฑ์


ส่วนหนึ่งของภาพชุดของพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ก็มีการตกหล่นสูญหายไปตามเหตุที่เคยเล่าให้ฟังในตอนก่อนๆหน้านี้เหมือนกันครับ เหลือมาให้ดูกันเท่าที่เห็นนี่ละครับ


สำหรับตอนนี้ ผมคงต้องลาคุณผู้อ่านไปแต่เพียงเท่านี้ก่อน ก็คงพอให้คุณผู้อ่านหลายคน คงนึกภาพออกแล้วว่า เหตุไฉน เมืองภูเก็ตจึงเต็มไปด้วยบึงน้ำมากมายถึงเพียงนี้


 มีเรื่องราวที่น่าประทับใจอีกเรื่องที่ผมอยากแบ่งปันให้คุณผู้อ่านได้ชุ่มชื่นหัวใจแบบผมอีกเรื่องนึงครับ คือเมื่อวันนี้ ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความที่คุณผู้อ่านกำลังอ่านอยู่นี้ ที่บริเวณริมชายหาดในอุทยานแห่งชาติสินีนาถ ผมเหลือบไปเห็นสาวสวยขาวหมวยรายหนึ่ง เดินนวยนาดมาตามชายหาด พร้อมกับเก็บอะไรบางอย่างใส่ถุงพลาสติกที่เธอถือมาด้วย เดินพลางเก็บไปพลาง แวบแรกผมคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวจีนเก็บเปลือกหอย เลยดึงความสนใจกลับมาที่งานของผม แล้วก็ก้มลงพิมเรื่องราวข้างต้นนี่ต่อ แต่พอเธอเดินใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ผมก็พบว่า เธอเป็นคนสวยมาก มากกว่าที่ผมคิดเอาไว้เมื่อมองเธอจากระยะไกล แล้วเธอคนนี้ก็ยิ่งสวยมากขึ้นไปอีก เมื่อผมมองเห็นบางอย่างในถุงพลาสติก ที่เธอถือมา มันคือเศษขยะ ถุงพลาสติกขวดน้ำ กระดาษทิชชู่ และอื่นๆ ผมอดรนทนไม่ไหว เพราะอยากจะรู้จักกับเธอคนนี้เหลือเกิน รวบรวมความกล้าสักเล็กน้อยก่อนที่จะเดินออกไปทักทายสาวสวยผู้นี้ จริงๆนะ ผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อนเลย เมื่อเข้าไปถามไถ่เธอ ก็ได้ทราบว่า เธอเป็นคน ก.ท.ม. มาทำงานภูเก็ตขณะที่คุยกัน เธอก็ไม่ได้หยุดเก็บขยะนะ อาจจะเขินผมก็ได้ ผมก็เขินเธอเหมือนกัน ก็เลยถามว่า ทำไมถึงมาเก็บขยะแบบนี้ รู้ไหมว่าผมเคยคิดจะทำแบบที่เธอทำนี่แหละ แต่ก็ได้แต่คิด เธอบอกสั้นๆว่า ทำเลยพี่ เสียงนั้นยังคงก้องอยู่ในโสตประสาท ผมพยายามจะขอช่องทางติดต่อเธอ และขอถ่ายรูป แต่เธอก็ปฏิเสธอย่างสุภาพ แถมแย้มให้รู้หน่อยๆด้วยว่าเธอมีแฟนแล้ว แหม่ น่าจะเจอกันมาตั้งนาน ก่อนที่เธอจะเป็นของใคร อยากให้มันมีปาฏิหารย์ให้ตัวฉันย้อนเวลากลับไป จะไม่ยอมให้เราคลาดกันฉันคงจะพบรักเธอก่อนใคร พบกันสายไป มันน่า เสียดาย ปาฏิหารย์ไม่มีจริง ปัดโถ่ววว เอิ้กๆๆๆ เธอและผมกล่าวลากันไป เธอบอกว่าเดี๋ยวจะเอาขยะออกไปทิ้งข้างนอก ผมมองดูเธอเดินจากไปจนลับตา ผมอาจเป็นเหมือนผู้ชายมากมายทั่วไปที่พยายามเข้าหาผู้หญิงที่สวยๆอย่างเธอ เธอคงจะชินชาและไม่ใส่ใจด้วยซ้ำ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่ริมชายหาดอันงดงามดังภาพวาดนั้น มันจะงดงามขึ้นอีกมากมายแค่ไหนเมื่อมีเธออยู่ในภาพนั้น ก่อนที่เธอจะเดินลับไป ผมได้ละเมิดข้อตกลงที่จะไม่ถ่ายรูปเธออย่างที่เธอขอไว้ เพราะผมคิดว่า ผมอาจจะไม่มีโอกาสพบเธออีก คิดได้ดังนั้น จึงเปลี่ยนโหมดมือถือจากพิมงานเป็นโหมดถ่ายภาพ และกดชัตเตอร์ทันที เธอจะอยู่ในใจผมตลอดไป ขอบคุณเธอคนนี้ สำหรับวันดีๆอีกวันหนึ่ง ลาคุณผู้อ่านไปกับภาพที่สวยที่สุดในชีวิตผมอีกหนึ่งภาพ สวัสดีครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าวดี มีมานานแล้วครับ

กราบสวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง หลังจากห่างหายไปจากการอัพเดต​บล็อค​ไปนาน ผมก็ขออนุญาต​กลับมาทำหน้าที่อีกครั่งหนึ่ง สำหรับวั...